สิ่งควรรู้ในการดำน้ำตื้น
การดำน้ำตื้น (Snorkeling or Skin Diving) การดำน้ำดูปะการัง การดำน้ำผิวน้ำที่เรียกว่า สนอร์เกิลลิ่ง (Snorkelling) หรือ สกินไดวิ่ง (Skin Diving) เหมาะสำหรับการชมปะการังน้ำตื้น ซึ่งเป็นการใช้อุปกรณ์ในการดำน้ำเพียงไม่กี่ชิ้น ได้แก่ หน้ากากดำน้ำและท่อหายใจ ชูชีพ และตีนกบ ราคาอุปกรณ์เหล่านี้ไม่แพงและหาซื้อได้ง่าย ที่สำคัญก็คือคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือไม่แข็งพอก็ยังสามารถดำน้ำชมปะการังได้ เพียงสวมชูชีพก็สามารถแหวกว่ายบนผิวน้ำได้อย่างเพลิดเพลิน
เหนือจากความเพลิดเพลิน เพื่อการพักผ่อนจากการดำน้ำชื่นชมความสวยงามของโลกใต้ทะเลแล้ว ยังได้รับความรู้ ควรเข้าใจในสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล แต่ละชนิดว่ามีการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดอย่างไร เมื่อได้เห็นความสวยงามของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลแล้ว ย่อมสร้างความประทับใจและเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนต่อธรรมชาติที่ได้พบเห็น อยากให้คงอยู่คู่แผ่นดินตลอดไป
การจัดการ และ กฎกติกา - ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่ที่เข้าไปดำน้ำทุกครั้ง - ควรเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับพืชและสัตว์มีพิษใต้ท้องทะเล - ควรมีอุปกรณ์ดำน้ำที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละอย่าง - ระหว่างขึ้นหรือลงเรือนั้นควรรอให้เรือจอดสนิท ขณะลงดำน้ำนั้นควรลงอย่างช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน - ห้ามเอามือจับกราบเรือหรือเดินบนกราบเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาจอดเทียบท่าหรือจอดเทียบเรือลำอื่น - หากเป็นจุดดำน้ำแห่งใหม่ที่ไม่เคยลงดำน้ำมาก่อน ต้องค้นคว้าหาข้อมูลให้ได้มากพอเท่าที่จะทำได้ - ควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่ไม่เหมาะต่อการดำน้ำ - ควรเลือกจุดดำน้ำและจุดที่จะกลับเข้าฝั่งหรือขึ้นเรือในบริเวณที่ปลอดภัยที่สุด - ควรแนะนำคนขับเรือให้จอดเรือโดยใช้ทุ่นเท่านั้น ห้ามทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการังอย่างเด็ดขาด - ควรลงดำน้ำต่อเมื่อร่างกายมีความแข็งแรง - ก่อนลงดำน้ำควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิดและรัดกุมเสมอ เพื่อป้องกันพืชและสัตว์มีพิษใต้ท้องทะเล - ห้ามลงดำน้ำคนเดียว แต่ควรมีเพื่อนดำน้ำด้วยอย่างน้อย 1 คน - เมื่อมีการลงดำน้ำเป็นกลุ่ม ควรฟังคำแนะนำก่อนการดำน้ำให้เข้าใจจากผู้ควบคุมการดำน้ำให้เข้าใจ - หากไม่มีความชำนาญในการใช้ตีนกบก็ไม่ควรใช้ - นักดำน้ำที่ใช้ตีนกบนั้นไม่ควรเข้าไปในแนวปะการังบริเวณที่มีน้ำตื้นมากๆ - เมื่อว่ายน้ำเข้าไปในบริเวณที่มีปะการังตื้นมากๆ ควรลอยตัวนิ่งๆ แล้วใช้มือค่อยๆแหวกว่ายออกไปให้พ้นจากบริเวณนั้น - การดำน้ำแบบผิวน้ำนั้นส่วนใหญ่เป็นการดำน้ำตามชายฝั่งที่มีแนวปะการังอยู่ในระดับความลึกของน้ำไม่กิน 9 เมตร - อย่าจับสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง - ควรประเมินขีดความสามารถของตัวเราเองว่ามีมากน้อยเพียงใด - นักดำน้ำต้องรู้จักควบคุมการทรงตัวผิวน้ำให้มีประสิทธิภาพ - อย่าว่ายเข้ามาใกล้เรือบริเวณหัวเรือและท้ายเรือ เพราะอาจได้รับบาดเจ็บได้ - ห้ามทิ้งขยะและเศษอาหารลงในทะเล
อุปกรณ์ ชูชีพ (Life Vests) ชูชีพเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการเดินทางโดยสารทางเรือหรือการเล่นกีฬาทางน้ำ ส่วนที่สำคัญที่สุดของชูชีพก็คือ เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ประสพภัยทางน้ำ ซึ่งเรือแต่ละลำจะต้องมีชูชีพติดประจำเรือ
หน้ากากดำน้ำ (Diving Mask) เป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการดำน้ำทั้งแบบผิวน้ำ (Skin Diving) เนื่องจากหากเราทดลองลืมตาในน้ำก็จะพบว่าภาพที่เห็นจะไม่ชัดหรือเบลอไปหมด สาเหตุมาจากตาของเราไม่สามารถปรับโฟกัสให้ชัดเจนได้ในสภาวะที่มีน้ำ หรือของเหลวล้อมรอบอยู่ ดังนั้นหน้ากากดำน้ำจึงเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ขณะดำน้ำ เพราะเมื่อสวมหน้ากากดำน้ำจะทำให้เกิดช่องอากาศขึ้น ระหว่างนัยน์ตาของเรากับน้ำที่ล้อมรอบอยู่ภายนอกหน้ากากดำน้ำ ทำให้ตาสามารถปรับโฟกัสได้
ท่อหายใจ (SNORKEL) ท่อหายใจช่วยทำให้นักดำน้ำผิวน้ำ (Skin Diver) สามารถนอนคว่ำบนผิวน้ำเพื่อดูธรรมชาติใต้ท้องทะเลได้ตลอดเวลา โดยหายใจสูดอากาศเข้าปอดผ่านท่อหายใจได้อย่างสบาย ซึ่งมีปลายโผล่พ้นผิวน้ำและช่วยสงวนพลังงานของร่างกาย โดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมาหายใจ อันจะทำให้เหนื่อยง่าย
ตีนกบ (FINS) ตีนกบเป็นอุปกรณ์สวมใส่กับเท้าที่จะช่วยถ่ายทอดพลังงานจากเท้าไปสู่น้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เราเคลื่อนที่ในน้ำได้เร็วขึ้น แต่ออกแรงน้อยลง ผู้ใช้จะไม่ค่อยรู้สึกเหนื่อยแม้จะว่ายน้ำดำน้ำเป็นเวลานาน ตีนกบแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท หรือ 2 รูปแบบ คือ แบบหุ้มส้น และแบบเปิดส้น
ความปลอดภัย - ควรตรวจสอบว่าผู้ประกอบการที่ให้บริการมีใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกต้อง - ควรตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลงเรือ ห้ามเกินจำนวนที่ระบุไว้ และมีอุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือ - ควรตรวจสอบว่าในเรือเดินทางมีชูชีพเพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน และให้นักท่องเที่ยวสวมใส่เมื่อลงเรือทุกครั้ง - ควรตรวจสอบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องว่ามีความพร้อมที่จะนำไปใช้ หากมีส่วนชำรุด ฉีกขาด ควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย - ควรมีเครื่องมือปฐมพยาบาลขั้นต้นไว้เสมอ เช่น ยาแก้เมา น้ำส้มสายชู - ควรตรวจสอบสภาพภูมิอากาศก่อนออกไปดำน้ำว่าปลอดภัยต่อผู้ลงดำน้ำหรือไม่ เช่น คลื่นลม, กระแสน้ำ |