การเตรียมตัวเพื่อสัมภาษณ์
(1) หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ทำงานพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ ทำงานให้ได้มากที่สุด คุณจะมีความหวังมากขึ้น หรืออย่างน้อยจะได้ไม่พลาดจนต้องนั่งกุมขมับภายหลังยิ่ง สมัครตำแหน่งสำคัญ ยิ่งต้องหาความรู้ให้มาก
ห้องสมุด เป็นแหล่งเริ่มต้นที่ ทั้งห้องสมุดของรัฐ ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ห้องสมุดประจำคณะ - ประจำแผนก ห้องสมุดของเอกชน-บริษัท-ธนาคาร-มูลนิธิ -รัฐวิสาหกิจ-และอื่น ๆ จะช่วยคุณได้ ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่ทำงาน-ของบริษัท รายชื่อผู้อำนวยการรายละเอียด โดยย่อเกี่ยวกับสาขา ผลิตภัณฑ์ และฐานะทางการเงินเป็นต้น
ถ้าสถานที่ทำงานใดพิมพ์วารสารแจกทั่วไป วารสารประจำปี จะเป็นประโยชน์ต่อคุณ ข้อมูลที่ได้จากการรายงานประจำปี เช่น บัญชีรายรับ รายจ่ายล่าสุด รายละเอียดผู้ถือหุ้น รายชื่อผู้อำนวยการ ความเก่าแก่ของบริษัท และอื่น ๆ อีกมากที่สำคัญ คุณต้อง มั่นใจได้ในข้อมูล ไม่ใช่เดาสุ่มเอาเองหรือจากความจำครึ่ง ๆ กลาง ๆ มิฉะนั้นภาพของบริษัทจะผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง การขยายตัวอย่างรวดเร็วและความแตกต่างหลากหลายในวงการธุรกิจ อาจทำให้คุณสับสน การค้นคว้าข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยไม่ให้คุณพลาดเวลาสัมภาษณ์
คุณควร พูดคุย กับใครก็ได้ที่มีความรู้เกี่ยวกับบริษัท บริษัทมีชื่อเสียงด้านไหน? (ในกรณีนี้คุณอาจได้ข้อมูลขัดแย้งกัน แต่คุณก็จะยังได้ภาพคร่าว ๆ ของบริษัทอยู่ดี) ยิ่งได้พูดคุยกับ คนวงใน ของบริษัทคุณจะยิ่งได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพราะเขามีความรู้เกี่ยวกับงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ บริการ ตำแหน่งงาน และเลยไปถึงกระบวนการคัดเลือกคนของบริษัทและคำถามในการสัมภาษณ์ที่เขาเคยผ่านมาก่อนด้วย คุณอาจนัดหมายเวลาพูดคุยกับเขา ขอยืมหนังสือเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทซึ่งไม่ใคร่เปิดเผยให้คนนอกรู้ เช่น แมกกาซีนรายชื่อคณะกรรมการบริหาร เป็นต้น ในกรณีคนที่คุณพูดคุยด้วย เคยผ่านการสัมภาษณ์ที่บริษัทนี้มาก่อนก็จริง แต่ไม่ผ่านและคราวนี้ยังเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สมัครรุ่นเดียวกับคุณ ก็อย่าหวังว่าจะได้ข้อมูลจากเขามากนัก
การสอดส่ายสายตาตามหน้า หนังสือพิมพ์ จะช่วยให้คุณมีข้อมูลทางธุรกิจที่ทันสมัย อย่าลืมอ่านหน้ารับสมัครงาน-บริการทอง-หรืออะไรทำนองนี้เป็นอันขาด เพราะหน้านี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขยายงานและตำแหน่งงานใหม่ ๆ เช่น ประกาศรับสมัครหัวหน้าแผนกหรือหัวหน้าสาขาที่เปิดใหม่ เป็นต้น
จงเพิ่มเติมความรู้ด้วยการสมัครเข้ารับ การอบรม ที่เอื้อประโยชน์ต่อตำแหน่งงานที่คุณกำลังรอสัมภาษณ์ (หรือหมายตาไว้) คุณจะได้พูดจาฉะฉานอย่างคนมี (กึ๋น) หรือเสมือนเป็น (คนวงใน) และยังเป็นการประกาศถึงความเป็นหนุ่มสาวไฟแรง กระตือรือร้นต่อการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วย เช่น สมัครอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์ของ ศศินทร์ ภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจของ ธรรมศาสตร์ - กว่าจะเป็นนักประชาสัมพันธ์มือโปร- ของศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพ (เอ็ม.ที.แอล.) -นายแนวหน้า- และ -เลขาฯ บริหาร- ของบี.ซี.เอ็ม. ฯลฯ
เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์จริง ๆ คุณต้องแน่ใจว่ารู้แจ้งแทงตลอดทั้งวงการธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่บริษัทเกี่ยวข้องอยู่ นี่หมายความว่า คุณต้องรู้ไปถึง คู่แข่ง สำคัญของบริษัทด้วย -มวยคู่เอก- ประเภท โค้กกับเป๊ปซี่, คอลเกตกับเปปโซเดนท์, โตโยต้ากับนิสสัน หรือสงครามบัตรเครดิตที่กำลังกระหึ่มอยู่ขณะนี้ คุณอยู่วงการไหน ต้องมีความรู้เกี่ยวกับวงการนั้นให้ได้ (ดี) บ่อยครั้ง ผู้สัมภาษณ์ชอบถามว่า อึอม์...คุณรู้อะไรเกี่ยวกับเราบ้างล่ะ? คำตอบซื่อ ๆ ว่า ก็...ไม่มากหรอกครับ ไม่ให้ความรู้สึกประทับใจที่ดีแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องสาธยายทุกสิ่งทุกอย่างที่สืบรู้มา การทำการบ้านมาก่อนเตือนให้คุณรู้จักระวังตัว ไม่พูดจาเงอะงะเฟอะฟะท้วงติงอะไรแบบคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถามอะไรแบบไม่เข้าท่า บางครั้งยังช่วยให้ตั้งถามอย่างฉลาด เป็นการแสดงภูมิรุ้โดยไม่ต้องโอ้อวดด้วย
ผมทราบมาว่า บริษัทเพิ่งเข้าไปรับงานก่อสร้างผลิตเสาเข็มให้กับรัฐบาลลาว คุณคิดว่า ลาวจะกลายเป็นตลาดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของธุรกิจก่อสร้างบ้านเราไหมครับ? นี่...คำพูดจาคมคายชวนให้ประทับใจมั้ยล่ะ? บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของบริษัท รวมไปถึงเครือข่ายที่บริษัทเกี่ยวข้องอยู่ด้วย การรับคนเข้าทำงานเป็นการลงทุนที่แพง ใช่ว่าบริษัทจะใช้งานคุณถ่ายเดียว บริษัทยังต้องฝึกคุณ-เพิ่มพูนความรู้ให้แก่คุณด้วย
การมีความรู้เกี่ยวกับกิจการของบริษัทและตำแหน่งงานที่คุณสมัครนั้น เป็นการประกาศทางอ้อมว่า คุณเอาจริงกับงานนี้ จึงยากที่คุณจะเบื่อง่าย ๆ ท้อแท้ หรือลาออกเร็ว ๆ ช่วยปิดประตูเสี่ยงให้กับบริษัทไปได้ชั้นหนึ่ง อย่างนี้แล้ว ถ้าบริษัทไม่สนใจคุณ ก็ใจจืดใจดำไปหน่อยล่ะ!
(2) จำข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณให้แม่นยำ
ถึงแม้คุณได้กรอกวัน-เดือน-ปีของการเข้างานออกงานไว้ในแบบฟอร์มสมัครงาน หรือในจดหมายสมัครงาน แล้วก็ตามที คุณยังอาจต้องพูดถึงวัน-เดือน-ปีเหล่านี้ในขณะสัมภาษณ์ด้วย ถ้าคุณรู้ตัวว่าความจำส่วนนี้ใช้ การไม่ใคร่ได้ ขอให้พกสำเนาประวัติการทำงานหรือประวัติการศึกษาติดตัวไปด้วยในวันสัมภาษณ์ พยายามนึกถึงประสบการณ์ที่เคยผ่าน เคยได้รับความสำเร็จพิเศษอะไร? ปัญหาใหญ่ ๆ ที่เคยลงมือแก้ไข จนลุล่วงไปได้? และเชื่อมโยงให้เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานที่สมัครอย่างไร?
ถ้าคุณเคยทำงานด้านบริหารมาก่อน จงนึกถึงสิ่งทีคุณเคยทำแล้วแสดงให้เห็นถึงความสามารถรอบตัว ความคิดริเริ่ม หรือความเป็นผู้นำ เพราะบริษัทต้องการรู้ว่า คุณเคยทำงานด้านไหนหน้าที่อะไรมาก่อน? เคยรับผิดชอบงานระดับไหน? เคยมีประสบการณ์คุมคนหรือไม่? เคยผ่านการอบรมอะไรมาบ้าง?
เพื่อประกอบการพิจารณาว่าคุณเหมาะสมกับงานหรือไม่ ขอให้มองดูประวัติการทำงาน หรือประวัติการศึกษาของคุณ ด้วยสายตาของผู้สัมภาษณ์ จำไว้ว่า
เขาจะเตรียมคำถามจากข้อมูลที่คุณให้ไว้ในแบบฟอร์มสมัครงาน ถ้าคุณเปลี่ยนงานบ่อย เขาต้องอยากรู้แน่ ๆ ว่าทำไม?ถ้าผลการเรียนของคุณไม่น่าพอใจ เขาต้องอยากรู้อีกนั่นแหละว่าทำไม? เตรียมคำตอบเอาไว้ให้ดี...
(3) เก็งคำถามล่วงหน้า
คุณต้องเก็งคำถามล่วงหน้า และคิดถึงคำตอบไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะคิดออกทีเดียว คำถามพื้น ๆ ต้องเจอแน่ ๆ เช่น ทำไมคุณจึงมาสมัครงานนี้? หรือ ทำไมคุณจึงลาออกจากงานเดิม? อาจตอบได้หลายเหตุผล ทว่าเราขอแนะนำให้คุณพูดอย่างคนฉลาด โดยเน้นประเด็นสำคัญ 2 เรื่องดังนี้
- งานนี้จะให้ประโยชน์อะไรแก่คุณ เช่นคุณเห็นว่าจะได้รับประสบการณ์กว้างขวางและมีค่ายิ่ง มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น เป็นต้น
- งานนี้จะให้อนาคตที่ก้าวหน้าแก่คุณ ถึงแม้เงินเดือนเป็นเครื่องล่อใจที่สำคัญ แต่คุณต้องแสดงออกให้เห็นชัดเจนเลยว่า คุณให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่ใช่คุณเห็นแก่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว และ...ไม่ใช่เพราะคุณเห็นว่าบริษัทอยู่ใกล้บ้านเพียงอย่างเดียวด้วย!
มุ่งมั่น แต่อย่าพร่ำเพ้อโอเวอร์จนเป็นคนพูดเพ้อเจ้อ เพียงแต่บรรยายให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่า คุณรู้สึกว่างานนี้ ท้าทาย คุณจริง ๆ มิฉะนั้นผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกรำคาญมากกว่าประทับใจ การทำการบ้านล่วงหน้า ช่วยให้คุณได้คะแนนนิยมมากกว่าคนอื่นและยังเพิ่มโอกาสตอบคำถามได้ดีกว่าคนอื่นด้วย
ถ้าคุณลาออกจากงานเดิม จะเป็นเพราะไม่เห็นด้วยกันกับนโยบายบางอย่างของบริษัท หรือทำงานไม่เข้าขากับเจ้านายก็ตามที คุณควรเตรียมตัวพูดถึงเรื่องนี้ไว้ด้วย การบอกกล่าวถึงความเป็นจริงนี้ด้วยความ -สุภาพ- เป็นเรื่องที่ทุกคนรับได้ (จะต้องไม่พูดด้วยความรู้สึกเคียดแค้น โกรธเคือง หรือ หยิ่งยโส) ความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน หรือ การกระทบกระทั่งอันเนื่องมาจากบุคลิกภาพไม่ต้องกัน เป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ ของการทำงานร่วมกัน
ถ้าคุณย่างเข้าวัยกลางคนและเคยมีตำแหน่งระดับบริหารมาก่อนแล้วจู่ ๆ ต้องออกจากงาน ไม่ว่าเนื่องมาจากคนล้นงานหรืออะไรก็ตามทีงานใหม่ใช่จะหาได้ง่าย ๆ และ ทางเลือก ของคุณก็ค่อนข้างน้อยเสียด้วย ทว่า ในการเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์ คุณจะต้องไม่แสดงท่าทีท้อแท้ ห่อเหี่ยว หรือเผยไต๋จนหมดไส้หมดพุง นายจ้างจำนวนมากสนใจนักบริหารที่มาพร้อมกับ เงื่อนไข และ หยิ่ง นิด ๆ มากกว่าคนที่พร้อมจะตกลงทันที
ส่วนคุณที่มีอายุน้อยและเพิ่งสำเร็จการศึกษาใหม่ ๆ มักจะเจอคำถามเกี่ยวกับครอบครัวและการศึกษาอบรม คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพอะไร? มีพี่น้องกี่คน? ทำงานอะไรกันบ้าง? ชีวิตในครอบครัวของคุณเป็นอย่างไร? คุณรู้สึกอย่างไรกับสถานศึกษาของคุณ? คุณชอบวิชาอะไรมากที่สุด - น้อยที่สุด จงให้เหตุผล? ทำไมถึงเลือกเรียนบัญชี? คุณทำงานวิจัยอะไรหรือฝึกงานด้านไหนมาบ้างหลังจากจบปริญญาตรี วิทยานิพนธ์ของคุณเกี่ยวกับเรื่องอะไร? และนำไปใช้ได้อย่างไร? จะมีส่วนสัมพันธ์กับงานที่คุณสมัครนี้หรือไม่? คุณพูดภาษาต่างประเทศอะไรได้บ้าง? พูดได้ระดับไหน? ฯลฯ
คำถามวนเวียนอยู่ในกรอบที่ว่านี้ เพราะชีวิตของคุณยังอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ครอบครัวจึงยังมีอิทธิพลต่ออุปนิสัยและบุคลิกภาพของคุณมาก การรู้จักครอบครัวคุณคือการรู้จักตัวคุณให้ลึกซึ้งมากขึ้น
ส่วนคำถามเกี่ยวกับการศึกษาอบรมนั้นเป็นไปเพื่อดูว่าคุณความมีความชอบ ความถนัด และความสามารถพิเศษอะไรบ้าง มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงานหรือไม่?คำถามสุดฮิตที่เจอบ่อย ๆ อีกข้อ คือ คุณคิดว่าตัวคุณมีคุณสมบัติอะไรดีที่สุด?
การเป็นคน ประเภทไหน ก็มีความสำคัญพอ ๆ กับการมี ความรู้ ความสามารถทางเทคนิค หรือ เคยผ่านประสบการณ์ อะไรมาบ้างคุณต้องพร้อมที่จะพูดบรรยายสรรพคุณวิเศษของตัวเอง โดยไม่ให้ผู้ฟังรู้สึกขวางหูว่า คุณพูดจาโอ้อวดจนเกินงาม แต่ก็ไม่ถ่อมตัวจนน่ารำคาญ ระวัง! อย่าพูดจาทื่อ ๆ แบบมีมีศิลปะว่า -ผมเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ดี- (มีไม่น้อยคนเลยที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีจริง ๆ แต่ไม่รู้ตัวเองกับนึกสงสัยระแวงนู่นระแวงนี่ ถามตัวเองอยู่แต่ว่า -ฉันไม่เอาไหนรึเปล่าเนี่ย?- หรือ -ฉันทำให้เขาเสียใจหรือเปล่านะ?- ส่วนคนที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป ก็มักทำให้คนอื่นระอาหรือหนักใจโดยไม่รู้ตัว) คนที่พูดจา เป็น จะพูดอย่างสุภาพน่าฟังว่า -เท่าที่ได้ยินมานะครับมีคนพูดชมว่าผมเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี-
หลังจากผ่านคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ดีไปแล้ว คุณอาจถูกซักถามเกี่ยวกับ -ข้อบกพร่อง- ของคุณ ขอแนะนำให้คุณ -ยอมรับ- ข้อบกพร่องของคุณบ้าง แต่ก็ต้องฉลาดพูด เลือกพูดถึงข้อบกพร่องที่อาจดูเป็น จุดแข็ง ในสายตาของคนอื่น โดยพูดแบบธรรมดา ๆ ไม่ให้ฟังเป็นการเน้นหรือจงใจมากเกินไป เช่น ผมคิดว่า ผมเป็นคนละเอียดถี่ถ้วยเกินไปสักเล็กน้อยต้องการให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบเสมอครับ บางครั้งก็ใช้เวลามากเกินความจำเป็นกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และชอบตรวจเช็กขัดเกลางานทุกชิ้น -หรือ -ผมคิดว่า ผมออกจะใช้เวลาในการตัดสินใจมากเกินไปเล็กน้อย คือ..ผมไม่ชอบด่วนตัดสินใจฉับพลัน โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนครับ -
คำถามอื่นที่คุณควรเตรียมคำตอบเอาไว้ให้ดี คือ -ประสบการณ์อะไรที่คุณคิดว่าท้าทายคุณมากที่สุด?- และ -ความสำเร็จสูงสุดที่คุณเคยได้รับคืออะไร?- คำถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน เป็นคำถามที่ต้องเจอบ่อย ๆ เข่นกัน เพราะผู้สัมภาษณ์ต้องการดูว่าคุณเป็นคน -ทำงานเพื่ออยู่\" หรือ -มีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน- และต้องการรู้วิธีคิดของคุณด้วยว่า ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและความเป็นไปได้เพียงใด -อีกสิบปีข้างหน้า คุณคาดว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร? ผู้สัมภาษณ์อาจแหย่มาเช่นนี้ คำตอบซื่อ ๆ จากใจจริงว่า ประธานบริษัทครับ อาจฟังชัดหูและดูเป็นคนโอหังเกินไปสำหรับบางคน คุณควรคิดถึงคำตอบที่บอกให้รู้อย่างชัดเจนว่า คุณเป็นคนรักความก้าวหน้าและมุ่งมั่นทำงานจริง ๆ แต่ตอนนี้ขอแค่พิสูจน์ตัวเองให้เห็นก่อนว่า คุณเหมาะสมกับงานที่กำลังสมัครอยู่นี้
คำถาม-คำตอบส่วนนี้จะไม่เป็นปัญหาต่อคุณ ถ้าความคิดของคุณแจ่มชัดแล้วว่า ต้องการอะไรในชีวิต แต่ถ้ายังเรื่อย ๆ ปราศจากเป้าหมายหรือกำลังมองหาอยู่ ความระวังคำตอบให้ดี มิฉะนั้นผู้สัมภาษณ์จะเข้าใจผิดว่าคุณเป็นคนเหลาะแหละ ทำงานแบบชามเช้าเย็นชาม
ถ้าคุณเป็น ผู้หญิง อาจเจอเข้ากับคำถามพิเศษ แม้จะไม่ถูกถามตรง ๆ ก็อาจมาในลักษณะอ้อม ๆ ได้ เพราะบริษัทต้องการรู้แน่นอนว่าคุณจะทำงานกับบริษัทนานแค่ไหน และจะลาหยุดบ่อยหรือไม่ คุณควรนึกทันทีว่า จริง ๆ แล้ว บริษัทต้องการรู้เกี่ยวกับแผนการหรือชีวิตสมรสของคุณ แผนการมีบุตรหรือการใช้เวลาวันหยุดตอนปิดภาคฤดูร้อนของบุตร และภาระหน้าที่ของคุณในยามที่สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย เป็นต้นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ค่อนข้างล่อแหลมต่อการก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคล ผู้สัมภาษณ์อาจไม่แน่ใจว่าเขามีสิทธิถามหรือไม่ ถ้าคุณยินดีให้ข้อมูลโดยไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้สัมภาษณ์คงจะซาบซึ้งในน้ำใจเล็กก ๆ น้อย ๆ นี้แน่นอน
(4) เตรียมคำถามของคุณเอง
ข้อความในประกาศรับสมัครงานอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะเขียนไว้อย่าคลุมเครือหรือรวบรัดเกินไป ไม่ใคร่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือความสำคัญของตำแหน่งงาน ในกรณีที่คุณผ่านไปถึงด่านสัมภาษณ์ และยังมีข้อข้องใจที่ต้องการรู้จริง ๆ อยู่อีก ควรจดรายการคำถามคดตัวไปด้วยในวันสัมภาษณ์ จงจำไว้เป็นกฎเลยว่า จะต้องไม่ถามซอกแซก จู้จี้จุกจิกเกินไปเกี่ยวกับเงื่อนไขการว่าจ้างงาน คำถามเกี่ยวกับเวลาเข้า-ออกงานแคนที สโมสร กิจกรรมเพื่อความบันเทิง ส่วนลดพิเศษสำหรับพนักงานหรืออะไรทำนองนี้ ไม่ควรเอ่ยปากออกมาเด็ดขาด
ยกเว้นรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่าที่จำเป็นสำหรับคุณจริง ๆ (เช่น...เพื่อจะได้ไม่มาถึงที่ทำงานสาย เป็นต้น) จึงควรถามได้ พร้อมกันนี้คุณต้องเตรียมเหตุผลไว้อธิบายว่า ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญสำหรับคุณ ผู้สัมภาษณ์จะได้ไม่รู้สึกว่า คุณเป็นคนทำงานประเภทจับตาคูนาฬิกาหรือไม่ใช่คนที่อุทิศทุ่มเทตัวให้กับงานจริง ๆ เป็นไปได้มากว่า ผู้สัมภาษณ์ได้เฉลยข้อข้องใจของคุณไปแล้วในตอนต้นของการสัมภาษณ์ (โดยที่คุณยังไม่ได้เอ่ยปากถาม) ดังนั้นเมื่อเขาถามว่าคุณมีอะไรจะถามมั้ย คุณอาจพูดทำนอนนี้ ครับ...ผมมีคำถามเตรียมมาจำนวนหนึ่ง แต่คุณได้กรุณาชี้แจงไปแล้วเป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับ...การขยายงานของบริษัท ระบบบริหารงาน การดำเนินงานของสาขา ผมแทบจะไม่มีข้อสงสัยอีกแล้วครับ เว้นแต่ว่าคุณจะกรุณาชี้แจงแผนงานทั่วไปเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยได้มั้ยครับ?
5) วางแผนการเดินทาง
เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นหญ้าปากคอก แต่จริง ๆ แล้วสำคัญมาก เพราะคุณต้องรู้ให้แน่ว่า คุณจะเข้าสอบสัมภาษณ์ ที่ไหน และจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร อย่าเผลอทึกทักว่าจะต้องสัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่เสมอไป จงดูว่าจริง ๆ แล้วเขานัดสัมภาษณ์ที่อื่นคุณต้องตรวจเช็กให้ดีว่า สถานที่สัมภาษณ์ตั้งอยู่บนถนนอะไร หรืออยู่ลึกเข้าไปในซอย เพราะถ้าคุณขับรถไปเองจะได้ไม่หลงทาง ถ้าคุณใช้บริการของ ขสมก. คุณอาจไปสายร่วมสิบนาทีได้ ควรตรวจสอบหมายเลขรถประจำทางและป้ายรถประจำทางให้ดี ถ้าข้องใจให้โทร ฯ ไปถามที่บริษัททันทีการไปสายแล้วระล่ำระลักว่า หาไม่พบ ขึ้นรถผิด หลงทาง รถติด ไม่ให้ความรู้สึกประทับใจที่ดีแก่ผู้สัมภาษณ์แม้แต่น้อย ตั้งใจไว้เลยวา คุณจะไปถึงสถานที่สัมภาษณ์แต่เนิ่น ๆ ไปให้ถึงก่อนเวลายิ่งดี คุณจะได้ร่นเวลาสัมภาษณ์ให้เสร็จเร็วขึ้น ถ้าคุณมีนัดอื่นในวันเดียวกันนั้น คุณจะได้ไม่กระวนกระวายใจขณะอยู่ในห้องสัมภาษณ์ว่า คุณอาจผิดนัด เพราะการสัมภาษณ์ดูท่าว่าจะยืดเยื้อเกินเวลา
(6) การแต่งกายและบุคลิกภาพ
คนจำนวนมากมีอคติอย่างรุนแรงในเรื่อง เสื้อผ้า และ บุคลิกภาพ ผู้สัมภาษณ์ไม่ใช่กรณียกเว้น ขอให้คิดเสียว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้สัมภาษณ์จะเป็นเช่นนั้น แม้ว่าในส่วนลึกแล้วคุณคิดว่า ไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม (บางรายเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ซะด้วย คุณอาจนักไม่ถึงว่า ที่คุณไม่ผ่านการสัมภาษณ์คราวก่อน เป็นเพราะผู้จัดการฝายขายปฏิเสธที่จะรับคนที่สูงไม่ถึง 6 ฟุตเป็นพนักงานขายของบริษัท-เท่านั้นเอง!) คุณควรแต่งกายสะอาดสะอ้านและเรียบร้อย ทั้ง ดูดี และ สบายดี เหล่านี้ต้องคำนึงถึงด้วย ถ้าคุณเป็นผู้หญิง ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ ในกรณีผู้สัมภาษณ์ของคุณเป็นผู้ชาย คุณอาจนึกชั่งใจว่า ควรจะแต่งตัวสวย-เป็นผู้หญิ้งผู้หญิงดี หรือแต่งตัวให้ดูภูมิฐานเป็นงานเป็นการดีเราขอแนะนำว่า การแต่งตัวเพื่อเน้นเสน่ห์ทางเพศมากเกินไป โดยมุ่งหวังคะแนนพิศวาสจากผู้สัมภาษณ์นั้น อาจทำให้คุณตกม้าตายได้ง่าย ๆ ผู้สัมภาษณ์อาจเข้าใจผิดว่า คุณกำลังจงใจปิดบังความไร้สมรรถภาพหรือคิดเลยเถิดไปว่า คุณไม่ใช่ผู้หญิงทำงานมืออาชีพที่แท้จริง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องคลุมหน้าคลุมตาเป็นมัมมี่ปิดบังรูปโฉมโนมพรรณ และเสน่ห์จากบุคลิกภาพแต่อย่างใดบุคลิกภาพที่น่านิยม และใบหน้าสะสวยชวนมอง เป็นคุณสมบัติที่บริษัททุกแห่งยินดีตอบรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งงานที่เป็นหน้าเป็นตาของบริษัท หรือเป็นตัวแทนของบริษัท เรื่องนี้ยิ่งสำคัญมาก เท่าที่กล่าวมา เราเพียงแต่ต้องการเตือนให้คุณเสนอภาพพจน์ของคุณอย่างถูกต้องเท่านั้น
จากหนังสือ
สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน ดี แมคแคนซี เดวี่ และ พี แม็คดอนเนล เขียน ธีรนัย แปลและเรียบเรียง บริษัทสร้างสรรบุคส์ จำกัด
|