1. |
เลือกเส้นทางบินแบบเทคเดียวจบ |
|
จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบินนั้น ช่วงที่ถือได้ว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ตอนขณะเครื่องขึ้น (takeoff) , เครื่องไต่ระดับ (climb), เครื่องลดระดับ (descent) และช่วงนำเครื่องลง (landing) ฉะนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในโดยสารเครื่องบิน หากเป็นไปได้ ให้เลือกเดินทางในเส้นทางบินที่ non-stop น่าจะดีกว่า นอกจากนี้ยังประหยัดเวลาและไม่เหนื่อยล้าจากการเดินทางด้วย |
|
|
2. |
เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ดีกว่า |
|
ทราบมาว่า เครื่องบินที่มีที่นั่งมากกว่า 30 ที่ขึ้นไป จำเป็นที่จะต้องผ่านการตรวจสอบตามข้อกำหนดของการบินสากล ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เคร่งครัด สำหรับการออกแบบเครื่องบินที่ปลอดภัยและมีการทดสอบก่อนบินจริง ดังนั้นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่กว่า ย่อมหมายถึงประสิทธิภาพและสมรรถนะที่ดีกว่าเครื่องบินขนาดเล็ก โอกาสที่จะเกิดปัญหาทางเทคนิคก็น้อยลงนั่นเอง |
|
|
3. |
ใส่ใจกับการสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย |
|
คงจะมีบ้าง ที่คุณคิดว่า ผม/ดิฉัน เดินทางเป็นประจำ รู้อะไรต่างๆ ดี จึงเพิกเฉยกับการสาธิตต่างๆ จากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แต่ละเที่ยวบินของคุณนั้น คุณอาจจะถูกจัดที่นั่งในที่ที่ต่างไปจากเที่ยวบินก่อนๆ หรือรุ่นของเครื่องบินที่คุณกำลังเดินทางต่างแบบกัน หรือเป็นสายการบินที่ไม่เคยใช้บริการมาก่อน ฉะนั้นทางออกฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ก็ต้องแตกต่างไปจากที่คุณเคยเห็นแน่นอน สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสักนิด สละเวลานั่งอ่านหนังสือพิมพ์เฉยๆ ซักไม่กี่นาที เพี่อชมการสาธิต และศึกษาคู่มือความปลอดภัย (Safety Card) ในกระเป๋าหน้าที่นั่งของท่านสักหน่อย อาจจะช่วยชีวิตคุณได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด |
|
|
4. |
การเก็บกระเป๋าสัมภาระส่วนตัว |
|
ยิ่งเดินทางไกล หรือเดินทางไปนานๆ กระเป๋าของคุณก็มีน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย สายการบินส่วนใหญ่ จะกำหนดน้ำหนักสัมภาระสำหรับหิ้วขึ้นเครื่องของผู้โดยสารเอาไว้ คุณควรจะปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของคุณเอง การมีสัมภาระที่หนักอึ้งเหมือนภาระชีวิตใครบางคน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่องเก็บของเหนือศีรษะนั้น สายการบินมีการจำกัดน้ำหนักเอาไว้ แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถชั่งน้ำหนักในเครื่องก่อนเก็บไว้ได้ หากเกิดสภาพอากาศแปรปรวน (turbulence) ที่รุนแรง ช่องเก็บของอาจจะรับน้ำหนักจากการกระแทกของกระเป๋าหนักๆ ไว้ไม่ไหว นอกจากนี้บางคนยังวางเก็บกระเป๋าไว้ใต้ขา เพื่อเอาไว้รองขาเวลานอนนั้น จริงๆ แล้วอันตรายครับ หากเกิดสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงมากๆ กระเป๋าอาจจะลอยขึ้นแล้วตกลงมา ทำให้ผู้คนบาดเจ็บได้ จึงขอแนะนำให้นำแต่สัมภาระที่จำเป็น เก็บสัมภาระที่ไม่จำเป็นหรือหนักเกินไป โหลดเข้าเก็บในกระเป๋าใหญ่ ส่งไปใต้เครื่องดีกว่า |
|
|
5. |
รัดเข็มขัดนิรภัย ปลอดภัยที่สุด |
|
นอกจากจำเป็นต้องรัดเข็มขัดนิรภัยขณะเครื่องขึ้นและลงแล้วนั้น ระหว่างการเดินทาง ควรรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะนั่ง ถึงแม้มันอาจจะอึดอัดและไม่สบายตัว แต่การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการป้องกันตัวคุณเองจากการตกหลุมอากาศแบบกระทันหัน ซึ่งบางครั้ง เป็นไปได้ที่นักบินไม่สามารถทราบได้จากหน้าจอเรดาห์ |
|
|
6. |
รับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำจากลูกเรือ |
|
นอกเหนือจากหน้าที่ที่พนักงานต้อนรับ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าแอร์กับสจ๊วต จะดูแลและบริการคุณระหว่างการเดินทางแล้วนั้น การดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพวกเขาด้วย ดังนั้นหากคุณได้รับการร้องขอหรือแจ้งให้ปฏิบัติ ก็ทำตามคำแนะนำและคำขอจากพวกเขาด้วย เช่นให้รัดเข็มขัดนิรภัย, เก็บสัมภาระไว้ในช่องเก็บของเหนือศีรษะ, ปรับพนักพิงหลังให้ตรง ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ ล้วนเพื่อความปลอดภัยของคุณและผู้โดยสารคนอื่นๆ ทั้งสิ้น |
|
|
7. |
ของร้อนโปรดระวัง |
|
ระหว่างเที่ยวบินของคุณ แน่นอนที่สุด ที่พนักงานต้อนรับจะต้องให้บริการท่านด้วยชาและกาแฟร้อน หรือแม้แต่น้ำร้อนๆ ที่ผู้โดยสารขอ ดังนั้นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการถูกน้ำร้อนลวก บางสายการบิน พนักงานจะมีถาดไว้ให้คุณวางถ้วยกาแฟ กรุณารอจนพนักงานรินให้คุณเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วคุณจึงหยิบถ้วยกาแฟด้วยความระมัดระวัง หรือบางสายการบินไม่มีถาด แต่จะรินลงแก้วให้คุณโดยตรง อันนี้ต้องระวังครับ ควรรอให้พนักงานรินเสร็จเสียก่อน จึงค่อยดึงแก้วกลับมา มิเช่นนั้น กาแฟร้อนๆ อาจจะรดลวกตักคุณกลางอากาศได้ |
|
|
8. |
ดื่มพอเป็นพิธี |
|
เนื่องจากระหว่างการเดินทาง เครื่องบินนั้นต้องบินอยู่ในระดับความสูงที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ภายในห้องโดยสารจึงต้องมีการปรับความดันให้คนเราสามารถอาศัยได้อย่างสบาย แม้จะมีการปรับสภาพแล้วก็ตาม ภายในห้องโดยสารก็ยังเปรียบได้กับสภาพบนภูเขาสูง อากาศจะเบาบางกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้น เป็นผลทำให้คุณเมาเร็วกว่าปกติ และเสี่ยงต่อการจับตัวเป็นก้อนของเลือดในเส้นเลือดของคุณ นำไปสู่อาการของโรคชั้นประหยัด (Economy Class Syndrome) ฉะนั้นจึงควรดื่มของมึนเมาแต่พอประมาณ และดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ |
|
|
9. |
เขตปลอดวัตถุอันตราย |
|
มีวัตถุหลายรายการที่เป็นสิ่งต้องห้ามบนเครื่องบิน เป็นการดีที่คุณจะศึกษาข้อมูลเหล่านี้ ก่อนเดินทาง ปกติแล้วคุณสามารถหาอ่านได้ ในตั๋วเดินทางของคุณ วัตถุที่ต้องห้ามต่างๆ เช่น แก๊สพิษ น้ำมันก๊าซ วัตถุไวไฟ สารทำละลาย เป็นต้น ทั้งนี้มีบางรายการที่ได้รับการยกเว้น หรือนำติดตัวไปได้ในจำนวนจำกัด |
|
|
10. |
หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฟัน |
|
เช่น จำเป็นต้องออกจากเครื่องโดยเร็ว หรือลี้ภัยฉุกเฉิน (evacuation) คุณต้องปฏิบัติตามคำสั่งของลูกเรือโดยเคร่งครัด เพราะลูกเรือเหล่านั้น ได้รับการฝึกมาให้รับมือ กับสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว ดังนั้นคุณจึงควรควบคุมสติให้ดี แล้วพยายามหาทางออกที่ใกล้ตัวที่สุด และออกจากเครื่องบินให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และเมื่อออกจากเครื่องไปแล้ว ให้หนีห่างออกจากเครื่องบินให้ไกลที่สุด วิธีเหล่านี้ คุณได้ศึกษามาแล้วจากการชมการสาธิตของลูกเรือ และจากเอกสารคู่มือความปลอดภัยในกระเป๋าหน้าที่นั่งนั่นเอง |