ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT กล่าวว่า การรับคนเข้าทำงาน มีเป้าหมายหลักก็เพื่อให้องค์กรอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ โดยหลักการจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ยึดด้วยหลักคุณธรรม เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคนที่มาประกอบอาชีพ HR ก็จะเผลอไผลไปมองประโยชน์ส่วนอื่นแทน เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก การโยกย้ายตำแหน่งโดยปราศจากความชอบธรรม
"ความประพฤติเป็นข้อชี้นำ สิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติ ดีที่สุดคือฝังให้อยู่จิตใต้สำนึก ในโลกความเป็นจริง คงไม่มีใครคิดแล้วทำได้ดีทุกเรื่อง สุดท้ายแล้วต้องมีกติกาในสังคม จรรยาบรรณที่ PMAT ทำไม่ได้เขียนเพื่อให้ทุกคนต้องไปปฏิบัติตามนั้น แต่มีคำถามตามมาว่าถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะเป็นอย่างไร?"
PMAT ยกร่างจรรยาบรรณ HR ขึ้นมาภายใต้กรอบความคิดที่เชื่อมโยงเรื่องอื่นๆ เข้าด้วยกัน ให้คำนิยามและพิจารณาว่าองค์ประกอบของวิชาชีพมีอะไรบ้าง? กระบวนการเข้าสู่อาชีพต้องทำอย่างไร? มีข้อกำหนดควบคุมความพฤติกรรมของผู้ประกอบอาชีพ รวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์ความรู้ในวิชาชีพ และสิ่งที่ฉัตรพงษ์ย้ำนักย้ำหนาคือ เป็นข้อกำหนดที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นรูปเสือเฉยๆ แต่ว่าลงมือทำจริง
ถึงกระนั้นเขาก็ยอมรับว่า การสร้างสรรค์ให้จรรยาบรรณเล่มนี้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างทันตาเลย 100% คงเป็นเรื่องยาก และต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ แต่ถ้าคิดในเชิงบวกว่าถ้าสามารถเริ่มต้นได้ที่ 60% ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับไปทีละ 5-10% จากนั้นก็มาทบทวนว่าจะเก็บเข้าลิ้นชักเลยหรือว่าเดินหน้าต่อไปดีให้ครบ 100% ดี โอกาสที่จะได้รับการยอมรับในวงกว้าง ก็ดูใกล้ความจริงได้มากกว่า
*************
จรรยาบรรณเน้นที่สิทธิและคุณค่า |